วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

วิธีการจัดการกับความเกียจคร้านทำได้ง่าย


วิธีการจัดการกับความเกียจคร้านทำได้ง่าย แต่เรามักจะทำเป็นไม่เห็น แล้วไปทำสิ่งที่ชอบหรืออยู่เฉยๆ มากกว่า มันง่ายยังไงว่าแล้วก็มาดูกันเลยครับ

1. สร้างแรงจูงใจ
ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึงถ้าฝันอย่างเดียวไม่พยายามทำให้เป็นจริงก็เป็นเพียง ฝันล้มๆแล้งๆการสร้างแรงจูงใจจะทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายที่คนส่วนใหญ่นิยม ยกตัวอย่างเช่น1.) ความร่ำรวย คนทั่วไปถือกันว่า ความร่ำรวยเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่เกิดจากโชคชะตาหรือความบังเอิญ แต่เกิดจากการลงมือกระทำหรือขยันหมั่นเพียรในการสร้างเนื้อสร้างตัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือให้เกิดมีขึ้นมาได้




2.) อำนาจ เกิดจากสาเหตุพื้นฐานหลายอย่างด้วยกัน เช่น เกิดจากความร่ำรวย เกิดจากการมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงในทางการเมือง ในทางราชการ หรือในองค์การและหน่วยงานอื่นๆ และที่สูงขึ้นไปคือเกิดจากการเอาชนะตัวเองได้จนกระทั่งมีพลังอำนาจทางจิตที่สูง เป็นต้น
3.) ความมีชื่อเสียง ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำความดี ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความงามเป็นเลิศ เป็นต้น ที่สร้างชื่อเสียงในสังคม เป็นความสำเร็จด้านดี
4.) ความสุข นอกจากความสุขทางกายที่แสวงหามาได้จากความร่ำรวยหรือสิ่งอื่นๆ แล้ว ยังมีความสุขทางจิตใจที่เกิดจากความพึงพอใจ ความสงบของจิตใจ และการได้ทำงานที่ตนเองพอใจ
5.) ความรู้หรือการค้นพบสิ่งใหม่ เช่น การศึกษาจบชั้นสูงสุด การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การบรรลุธรรม และการสร้างองค์ความรู้อื่นๆ
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว คุณจะตระหนักถึงความสำคัญและไม่ยอมเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ดวงตาจะเป็นประกายเมื่อนึกถึงวันที่ตนเองประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้ความพยายามและความสม่ำเสมอจึงจะทำให้เป็นจริง ลองอ่าน เป้าหมายของชีวิต แรงจูงใจ และแรงบันดาลใจ เพื่อการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อนึกถึงแรงจูงใจที่หอมหวานแล้ว การผลัดวันประกันพรุ่งหรือเกียจคร้านไม่อยากทำงาน ก็ไม่อาจฉุดรั้งคุณจากความสำเร็จได้อีกต่อไป
2. กำหนดรางวัล
ไม่ว่าจะเป็นการพักดื่มน้ำสักนิด ของขวัญที่อยากได้มานาน ทริบท่องเที่ยวที่อยากไป คุณก็สามารถมอบรางวัลให้กับตนเองได้ทั้งนั้นเมื่อเสร็จงานแล้ว ย้ำ! เมื่อเสร็จงานแล้ว อย่าให้รางวัลกับตัวเองก่อนเด็ดขาด และที่สำคัญรางวัลนั้นควรเหมาะสมกับคุณภาพหรือความยากง่ายของงานที่คุณทำเสร็จด้วย ซื่อสัตย์ต่อตนเองหน่อยนะครับ คุณคงไม่อยากกลับไปเป็นคนเกียจคร้านไม่เอาไหนอีกใช่ไม๊ล่ะ งั้นก็อดใจไว้จนงานเสร็จนะ สู้ๆ!





3. รวบรวมพลังแล้วจัดการเรื่องที่ท้าทายที่สุดก่อน
“Eat that Frog” กินกบตัวนั้นซะ! ไม่ได้จะบอกให้คุณไปกินกบจริงๆ นะ กบที่ว่า คือ งานยากที่สุดในแต่ละวันของคุณต่างหาก แน่นอนว่าเมื่อเป็นงานที่ยากคุณจึงอยากจะเก็บไว้ทำทีหลัง แต่ถ้าคุณผ่านเรื่องยากที่สุดไปได้ งานอื่นๆที่มีก็ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องกังวลอีกต่อไป ก็คุณทำงานที่ยากที่สุดไปแล้ว จะมีงานไหนที่ยากกว่านี้อีกล่ะ วีธีรับมือกับงานยากๆก็คือ มองภาพรวมแล้วแบ่งงานนั้นเป็นส่วนเล็กๆรวมกัน จากนั้นจึงทำส่วนเล็กๆไปที่ละส่วน เมื่อเสร็จทุกส่วนก็เท่ากับว่าคุณได้ทำงานชิ้นใหญ่สำเร็จแล้ว ดังนั้นรวบรวบพลังและความกล้าของคุณกินกบตัวนั้นซะ ทำเสร็จแล้วก็ให้รางวัลตัวเองด้วยนะครับ
4. กำหนดเวลาเสร็จ คงไม่ดีแน่ถ้าคุณใช้เวลาทั้งวันในการทำงานง่ายๆ ที่คุณตั้งใจทำจริงๆใช้เวลาแค่ 30 นาทีก็เสร็จ การกำหนดเส้นตายหรือเวลาเสร็จจะสร้างคำมั่นสัญญา ทำให้คุณกระตือลือล้นและตั้งใจทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเวลาที่ผ่านไปเรียกคืนกลับมาไม่ได้ ดังนั้นคุณจึงควรใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด ถ้าอยากสร้างกำลังใจมากขึ้นลองบอกเป้าหมายของคุณและเวลาเสร็จให้คนรอบข้างของคุณได้รับรู้ จะช่วยกระตุ้นให้คุณอยากทำให้สำเร็จตามที่บอกไว้ได้ดีทีเดียว
5. จัดตารางเวลา การวางแผนเพื่อใช้เวลาจะช่วยให้เราทราบว่า เสร็จงานนี้แล้วจะทำอะไรต่อ ในแต่ละวันมีงานไหนที่จะต้องทำบ้าง คุณอาจใช้สัดส่วนเวลาในการทำงานและการพัก เช่น
งานยาก ทำงาน 50 นาที พัก 10 นาที ถ้าใช้เวลา 3 ชั่วโมง คุณจะได้งาน 3 ชิ้น เป็นต้น
งานง่าย ทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที ถ้าใช้เวลา 3 ชั่วโมง คุณจะได้งาน 6 ชิ้น เป็นต้น




คนทุกคนล้วนรักตนเอง อยากให้ตนเองสบาย จึงปฏิเสธที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าตนเองลำบาก เลือกที่จะหมดเวลาไปกับความเพลิดเพลินสุขสบาย เช่น การกิน การดูทีวี อบายมุข หรือไม่ก็เรื่องจิปาถะที่ไร้สาระ นิสัยเกียจคร้านนั้น เป็นกลไกที่ช่วยในการหลีกหนีความขัดแย้งของตนเองเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆที่ต้องใช้ความคิดริเริ่ม นี่เองอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเกียจคร้านมักชอบยึดติดอยู่กับสภาพเดิมๆ ที่เคยชิน มากกว่าการริเริ่มทำสิ่งใหม่

ในชีวิตคนเราที่สิ่งที่ต้องทำอยู่ 2 อย่าง คือสิ่งที่อยากทำกับสิ่งที่ควรทำ

ลองจัดตารางเวลาสำหรับแต่ละงาน เช่น
• 9.00-9.50 น. ทำงานชิ้นที่ 1
• 10.00-10.50 น. ทำงานชิ้นที่ 2
• 11.00-11.50 น. ทำงานชิ้นที่ 3
• 12.00-13.00น. พักทานอาหารกลางวัน
• 13.00-13.50 น. ทำงานชิ้นที่ 4
• 14.00-14.50 น. ทำงานชิ้นที่ 5
• 15.00-15.50 น. ทำงานชิ้นที่ 6
• 16.00-16.50 น. ทำงานชิ้นที่ 7
• 17.00 น. เป็นต้นไป ออกกำลังกาย ทานมื้อเย็น อ่านหนังสือเล่มโปรด นอนพักผ่อน ฯลฯ
จะเห็นว่าถ้าคุณจัดเรียงเวลาในการทำงาน จะทำให้เกิดผลงานขึ้นอย่างแน่นอน แต่ละวันของคุณจะไม่สูญเปล่า และยังเกิดผลงานให้ชื่นใจ รายได้ ที่คุณพอใจย่อมเกิดขึ้นตามมา
6. ตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งต้องให้ได้งานสักชิ้น
นั่นคือการติดตามผลสำเร็จของงานที่ทำ ลองจินตนาการว่า คุณหัดวาดภาพวันละ 1 ภาพ เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี คุณจะมีผลงานทั้งหมด 365 ชิ้น ต่อให้คุณเกียจคร้านขนาดไหนถ้ามีผลงานสำเร็จขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 อย่าง คุณก็จะมีผลงานที่สั่งสมประการณ์และเต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญถึง 365 ชื้น แล้วถ้าคุณทำสำเร็จได้มากกว่าวันละ 1 อย่างล่ะคุณจะเก่งแค่ไหน ถ้ามีอุปสรรคหรืองานยากๆผ่านเข้ามาคุณก็ทำได้ไม่มีปัญหา เพราะคุณอาจเคยทำงานคล้ายๆกันนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ
7. สมมุติวันพักผ่อนแล้วกำหนดงานให้เสร็จก่อนวันนั้น
การสมมุติว่าคุณจะต้องเดินทางหรือไปเที่ยวที่อื่นในวันเวลาที่คุณกำหนด จะทำให้คุณต้องวางแผนและทำงานให้เสร็จ ซึ่งถ้าหากทำไม่เสร็จคุณอาจไม่สะดวกที่จะทำงานนั้นเพราะคุณต้องเดินทาง การสมมุติวันไปเที่ยวคล้ายกับการกำหนดเวลาเสร็จงานในข้อ 4 แต่จะเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานให้มากขึ้น การจินตนาการว่าต้องทำงานให้เสร็จก่อนจะถึงวันเดินทางไปเที่ยว มีบทลงโทษ คือ ถ้าทำไม่เสร็จหมายถึงการไม่ได้ไปเที่ยวหรือไปเที่ยวไม่สนุกเพราะมีห่วง
8. ลงมือเดี๋ยวนี้
เมื่อถึงเวลาที่คุณได้วางตารางการทำงานไว้ ไม่ว่าจะเบื่อ เซ็ง ไม่อยากทำแค่ไหน คุณก็ต้องหยุดข้ออ้างทุกอย่างและลงมือทำ อย่างน้อยเริ่มให้ได้ 15 นาทีก็ยังดี ให้นึกถึงเป้าหมายที่คุณอยากไปถึง ความร่ำรวย ความรัก ความรู้ ความสุข อะไรก็ตามที่คุณฝันเอาไว้ ดึงภาพแรงจูงใจมาให้ได้มากที่สุด เวลานี้เป็นเวลาที่คุณต้องต่อสู้กับความเกียจคร้านที่ฉุดรั้งคุณไว้ ทิ้งข้ออ้างที่ว่า เช้าเกินไป ดึกเกินไป หิวเกินไป อิ่มเกินไป กำลังอารมณ์ไม่ดี ฯลฯ ทิ้งข้ออ้างแห่งความเกียจคร้านให้หมด และลงมือทำทันที
9. ลองเปลี่ยนชีวิตประจำวัน
การทำกิจวัตรประจำวันแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ซึมเศร้าได้ ลองทำสิ่งใหม่ๆ เช่น เล่นกีฬาชนิดใหม่ เรียนคอร์สทำอาหารหรือกิจกรรมใหม่ เดินทางบนถนนเส้นใหม่ที่แตกต่างจากเส้นเดิมที่ใช้เป็นประจำ คนเจอผู้คนหลากหลายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณมองตัวเองต่างไปจากเดิม จากที่เคยหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน เปลี่ยนเป็นคนกระฉับกระเฉง สร้างผลงานใหม่พัฒนาชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น